EN/TH
EN/TH
กลุ่มการศึกษาและเรียนรู้ตลอดชีวิต>ด- การพัฒนาอภิปัญญาของนักเรียนไทย 4.0 : การศึกษานำร่อง วิชาคณิตศาสตร์-ดวงหทัย กาศวิบูลย์
ด- การพัฒนาอภิปัญญาของนักเรียนไทย 4.0 : การศึกษานำร่อง วิชาคณิตศาสตร์-ดวงหทัย กาศวิบูลย์
ผู้วิจัย : รศ.ดร.ดวงหทัย กาศวิบูลย์   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 195 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 25 ครั้ง

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาองค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอภิปัญญาในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์2) ศึกษาแนวทางการใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูคณิตศาสตร์ในการพัฒนาอภิปัญญาของนักเรียน 3) ประเมินอภิปัญญาของนักเรียนในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ 4) ศึกษาความสัมพันธ์ของอภิปัญญาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์กลุ่มเป้าหมายของงานวิจัยนี้คือ นักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู สาขาวิชาคณิตศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่สนใจเข้าร่วมโครงการจำนวนทั้งสิ้น 5 คน รวมไปถึงนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวน 201 คน ซึ่งมาจากชั้นเรียนของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครู คนละ 1 ห้อง (นักเรียนประมาณ 40 คนต่อห้อง) ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562

ผลการวิจัย พบว่า 1) องค์ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอภิปัญญาในการเรียนการสอนคณิตศาสตร์โดยใช้ Matrix reviews วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง สามารถแบ่งออกได้ 4 ประเด็น คือ กรอบแนวคิดอภิปัญญาในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ การใช้กลยุทธ์เชิงอภิปัญญาในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ การวัดและประเมินอภิปัญญาในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับอภิปัญญาในชั้นเรียนคณิตศาสตร์ 2) แนวทางการใช้การวิจัยเชิงปฏิบัติการเพื่อส่งเสริมนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพครูคณิตศาสตร์ในการพัฒนาอภิปัญญาของนักเรียน ประกอบด้วย 3 ระยะ (จาก 3 วงจรของการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (PAOR)) คือ ระยะที่ 1) การปรับพื้นความรู้ ระยะที่ 2) การสร้างและพัฒนาแผนฯ ที่ส่งเสริมอภิปัญญา และระยะที่ 3) การสอนจริงตามแผนฯ ที่ได้พัฒนาขึ้น ซึ่งทั้ง 3 ระยะมีใช้การมีส่วนร่วมในการพัฒนา เช่น การอ่าน การอภิปราย/วิพากษ์การสังเกต การฝึกอบรม/บรรยาย การลงมือปฏิบัติ การลองผิดลองถูก การให้ข้อมูลย้อนกลับ และการสะท้อนคิด 3) อภิปัญญาของนักเรียนในวิชาคณิตศาสตร์จากการทำแบบวัดอภิปัญญาโดยรวมพบว่า นักเรียนมีคะแนนอภิปัญญา (ตามแบบมาตราวัดของลิเคิร์ทโดยใช้เกณฑ์5 ระดับ) 

โดยรวมเฉลี่ยก่อนและหลังเรียนคือ 3.66 และ 4.01 ตามลำดับ ทั้งนี้ได้ค่า Effect Size (d) โดย ภาพรวมเท่ากับ 0.44 ถือว่าคะแนนเพิ่มขึ้นในระดับปานกลาง 4) ความสัมพันธ์ของอภิ ปัญญาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ของนักเรียน พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ (Pearson’s correlation coefficient) ระหว่างอภิปัญญาและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คณิตศาสตร์ของนักเรียนในชั้นเรียนของนักศึกษาฝึกประสบการณ์วิชาชีพอยู่ในช่วงระดับต่ำ – สูง (0.33 – 0.77)