รายงานฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและถอดบทเรียนต้นแบบกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวที่ดำเนินการและจัดการตามแนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยประยุกต์ใช้วิธีการศึกษา 4 วิธี ได้แก่ 1) การประยุกต์แนวทางการวิจัยเชิงคุณภาพ 2) การประเมินต้นทุน-ผลประโยชน์ส่วนเพิ่มตามแนวคิดเศรษฐศาสตร์ 3) การประเมินการปล่อยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามขั้นตอนการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ /กระบวนการใดๆ และ 4) การประยุกต์แนวทางการศึกษาบุคลักษณ์ (Persona) ของผู้เยี่ยมเยือนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายด้วยการใช้ persona card สร้างผู้ใช้จำลอง
ผลการศึกษาพบว่า ต้นแบบมีความโดดเด่นในกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียวที่เกี่ยวกับการจัดการเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างขยะและน้ำเสีย เช่น การคัดแยกขยะแล้วนำไปจัดการด้วยวิธีที่เหมาะสม การนำน้ำเสียที่บำบัดกลับมาใช้ เป็นต้น สำหรับเศรษฐกิจชีวภาพเป็นความท้าทายสำคัญของต้นแบบกลุ่มธุรกิจ ที่พักแรมในการประยุกต์ใช้นวัตกรรมมาเพิ่มมูลค่า/คุณค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม ขณะที่ต้นแบบกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจสปาเชียงใหม่ มีความโดดเด่นที่ชัดเจนในการนำการท่องเที่ยวมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพและวัฒนธรรม ส่วนเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นความท้าทายสำคัญสำหรับทุกต้นแบบในการออกแบบกิจกรรมที่ทำให้เกิดการหมุนเวียนการใช้ทรัพยากร
ขณะที่ผลการประเมินต้นทุน-ผลประโยชน์ พบว่า ต้นแบบได้รับผลประโยชน์จากการดำเนินงาน และจัดการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG แตกต่างกัน โดยต้นแบบกลุ่มธุรกิจที่พักแรมได้ผลประโยชน์ส่วนใหญ่ จากกิจกรรมด้านการจัดการพลังงานไฟฟ้าและน้ำ และการจัดการขยะและของเสีย ขณะที่ต้นแบบ กลุ่มแหล่งท่องเที่ยวได้รับผลประโยชน์ส่วนใหญ่จากการใช้การท่องเที่ยวมาเพิ่มมูลค่าให้กับทรัพยากรชีวภาพและทุนชุมชน รวมถึงกิจกรรมด้านการจัดการขยะและของเสีย โดยเฉพาะการคัดแยกขยะแล้วนำเศษวัสดุทางการเกษตรและมูลสัตว์มาทำปุ๋ยหมัก สำหรับต้นแบบกลุ่มธุรกิจสปา ได้รับผลประโยชน์จากกิจกรรม 3 ด้าน ได้แก่ การคัดแยกขยะแล้วนำขยะรีไซเคิลไปจำหน่าย การใช้ขวดแบ่งบรรจุภัณฑ์แบบเติม และการนำน้ำเสียที่บำบัดแล้วกลับมาใช้
สำหรับผลการประเมินการปล่อยและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พบว่า การใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดของทุกต้นแบบ ขณะที่การคัดแยกขยะและการลดปริมาณการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสายส่งเป็นสองแนวทางสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สำหรับต้นแบบกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวมีพื้นที่ป่าไม้ช่วยดูดซับคาร์บอน ซึ่งได้สร้างโอกาสในการมุ่งสู่ net zero carbon emission /carbon neutrality ขณะที่ต้นแบบธุรกิจสปาถือเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำ (Low carbon)
ส่วนผลการศึกษาผู้เยี่ยมเยือน พบว่า กิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจสีเขียวและเศรษฐกิจหมุนเวียนเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับผู้เยี่ยมเยือนของต้นแบบกลุ่มธุรกิจที่พักแรมและแหล่งท่องเที่ยว ส่วนกิจกรรมเกี่ยวกับเศรษฐกิจชีวภาพเป็นกลุ่มกิจกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับผู้เยี่ยมเยือนของต้นแบบกลุ่มแหล่งท่องเที่ยวและธุรกิจสปา
การศึกษานี้ให้ข้อเสนอแนะบางประการเพื่อก่อให้เกิดการขยายแนวทางการดำเนินงานและจัดการตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG สำหรับภาคเศรษฐกิจท่องเที่ยวให้กว้างขวางยิ่งขึ้นโดยการเร่งสร้างความรู้ความเข้าใจที่ชัดเจนและสอดคล้องกันให้กับผู้กำหนดและใช้นโยบายและแนวทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวภายใต้แนวคิดโมเดลเศรษฐกิจ BCG ให้กับผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ นอกจากนี้ ภาครัฐควรมีนโยบายสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจเชิงนโยบายให้กับผู้ประกอบการในส่วนของการส่งเสริม สนับสนุน และพัฒนา ควรให้ความสำคัญกับการดำเนินงานและจัดการขยะและของเสียที่หลากหลายภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน และออกแบบแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานของพนักงานและกิจกรรมที่ทำให้ผู้ใช้บริการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะนำมาสู่การประหยัดพลังงานไฟฟ้า /ลดต้นทุนการให้บริการ /ลดผลกระทบเชิงลบที่มีต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงนวัตกรรมบริการที่มีการนำความหลากหลายทางชีวภาพและทุนชุมชนมาเพิ่มมูลค่า