เกมเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของเด็กและเยาวชน-พลรพี ทุมมาพันธ์ และคณะ
ผู้วิจัย : ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลรพี ทุมมาพันธ์ และคณะ   โพสต์ เมื่อ 09 กุมภาพันธ์ 2023

การพัฒนาคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนด้วยเกมการเรียนรู้เป็นประเด็นที่กำลังเป็นที่สนใจในปัจจุบัน การวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ 4 ข้อ ได้แก่ 1) เพื่อพัฒนากรอบการออกแบบเกมสำหรับเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 2) เพื่อพัฒนาความสามารถ ด้านการออกแบบเกมเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของนักศึกษาระดับอุดมศึกษา 3) เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของเกมต้นแบบ เกมเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนในระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น และ 4) เพื่อพัฒนาและประเมินประสิทธิผลของกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนโดยการใช้เกมสำหรับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น การศึกษาครั้งนี้ใช้วิธีการวิจัยอิงการออกแบบ (Design-based research) ประกอบด้วย 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การวิจัยเบื้องต้น ทำการศึกษาด้วยการสัมภาษณ์กลุ่มผู้ทรงคุณวุฒิ 9 คน ครูผู้สอนในวิชาหน้าที่พลเมืองหรือกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 12 คน และผู้เรียนระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 12 คน และพัฒนากรอบการออกแบบเกม ระยะที่ 2 การวิจัยเป็นวงจรซ้ำและกระบวนการพัฒนาความสามารถในการออกแบบเกมของนักศึกษา มีนักศึกษาระดับอุดมศึกษาชั้นปีที่ 1-3 เข้าร่วม 18 คน ระยะที่ 3 การประเมินกึ่งรวบยอด ทำการทดลองเกมแต่ละเกมกับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น จำนวนรวม 122 คน โดยมีผู้ทดลองเล่นเกมตั้งแต่ 8 27 คนต่อเกม และระยะที่ 4 การพัฒนาและทดสอบประสิทธิผลของกิจกรรมการเรียนรู้ผ่านเกม เพื่อนำไปใช้ในสภาพจริง โดยมีเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นที่เข้าร่วมกิจกรรมตลอดทั้งกระบวนการรวม 356 คน เป็นกลุ่มทดลอง 182 คน และกลุ่มควบคุม 174 คน การเก็บข้อมูลประกอบด้วย การสัมภาษณ์รายบุคคล การสัมภาษณ์กลุ่ม การสนทนากลุ่มโดยใช้แบบทดสอบ การสำรวจด้วยแบบสอบถาม และการประเมินผลการปฏิบัติ การวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วยการวิเคราะห์ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เนื้อหา

ผลการวิจัยพบว่า

  1. กรอบการออกแบบเกมสำหรับเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นประกอบด้วยทั้งหมด 6 เกมที่พัฒนาคุณลักษณะด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับจิตอาสา ได้แก่ 1) การเห็นประโยชน์ของการช่วยเหลือผู้อื่น 2) ความเข้าอกเข้าใจความต้องการของผู้อื่น 3) การตระหนักในความสามารถในการช่วยเหลือผู้อื่นของตนเอง 4) การคิดเชิงระบบ 5) การทำงานร่วมกับผู้อื่น และ 6) การคิดเชิงกลยุทธ์ โดยกรอบการออกแบบเกมแต่ละเกมมีประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ เป้าหมายการเรียนรู้ของเกม ประสบการณ์สำคัญในการเรียนรู้ผ่านเกม บริบทของเกม เป้าหมายในการเล่นเกม การเริ่มเล่นเกม กิจกรรมที่ผู้เล่นกระทำระหว่างเล่นเกม การจบเกม และประเด็นที่ต้องถอดบทเรียนหลังจากการเล่นเกม
  2. ความสามารถด้านการออกแบบเกมเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของนักศึกษา ระดับอุดมศึกษาหลังการเข้าร่วมกิจกรรมสูงกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรม
  3. เกมต้นแบบเกมเสริมสร้างคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมีประสิทธิผลในการพัฒนาทักษะและเจตคติของผู้เล่น โดยความรู้เกี่ยวกับจิตอาสาของผู้เล่นเกมหลังการเล่นเกมต่ำกว่าก่อนเล่นเกม ส่วนทักษะและเจตคติด้านจิตอาสาของผู้เล่นเกมสูงกว่าก่อนเล่นเกม
  4. กิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนโดยการใช้เกมสำหรับเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในภาพรวมมีประสิทธิผลในการพัฒนาคุณลักษณะจิตอาสา ทั้งด้านความรู้ ทักษะและเจตคติ โดยคะแนนหลังการเข้าร่วมกิจกรรมสูงขึ้นจากก่อนเข้าร่วมกิจกรรม 0.03 และ 0.02 และ 0.05 ตามลำดับ และการเพิ่มขึ้นนี้สูงกว่ากลุ่มควบคุมทุกด้าน รวมทั้งผลลัพธ์ตามกรอบการออกแบบเกมของเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นหลังการเข้าร่วมกิจกรรมพัฒนาคุณลักษณะจิตอาสาของเยาวชนโดยการใช้เกมสูงกกว่าก่อนเข้าร่วมกิจกรรมทุกด้าน และมีการเพิ่มขึ้นของค่าเฉลี่ยผลลัพธ์ระหว่างก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมตั้งแต่ 0.07-0.13 คะแนน