ชาวชุมชนแออัด เป็นกลุ่มคนที่ยากจนทั้งทางเศรษฐกิจและทางอำนาจ ซึ่งถือว่าเป็นการสะท้อนความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยได้เป็นอย่างดี หากจะพัฒนาประเทศไทยให้สามารถยกระดับเป็นเจ้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรมก้าวทันโลก ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 จะต้องพัฒนาคุณภาพชีวิตพื้นฐานของประชากรให้ดีอย่างเท่าเทียมเสียก่อน
ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและความคิดของชาวชุมชนแออัดชุมชนแออัด เพื่อให้สามารถนำความเข้าใจดังกล่าวไปปรับประยุกต์เป็นนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมชีวิตของชาวชุมชนแออัดริมคลองแม่ข่าในแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ได้ต่อไป
ชาวชุมชนแออัดคือกลุ่มคนชายขอบกลุ่มหนึ่งในสังคมไทย ที่ส่วนใหญ่ประสบปัญหาร่วมกันคือไม่สามารถมีรายได้ที่เพียงพอจะมีที่อยู่อาศัยที่มั่นคงในเมือง รวมถึงปัญหาทางสังคมที่มักถูกตีตราในด้านลบ เช่น เป็นคนทำลายสิ่งแวดล้อมของเมือง เป็นแหล่งอาชญากรรมและยาเสพติด ชาวชุมชนแออัดที่อยู่ริมคลองแม่ข่าในจังหวัดเชียงใหม่คือชาวชุมชนแออัดที่สะท้อนปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ปัจจุบันสังคมออนไลน์กำลังเข้ามามีบทบาทอย่างมากกับชีวิตของผู้คน ไม่เว้นแม้แต่ชาวชุมชนแออัดเอง ทั้งด้านการเป็นโอกาสทางเศรษฐกิจ การเป็นพื้นที่ในการสร้างตัวตนใหม่ การเป็นพื้นที่ในการสร้างเครือข่ายใหม่ ๆ จากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นของงานวิจัยพบว่า ชาวชุมชนแออัดริมคลองแม่ข่าได้มีวิถีชีวิตผูกโยงกับโลกออนไลน์อย่างเต็มตัวแล้วไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ดังนั้นงานวิจัยชิ้นนี้จึงต้องการทบทวนและตั้งคำถามต่อมายาคติว่าการใช้อินเตอร์เน็ตคือการทำอะไรที่ไร้สาระจริงหรือไม่ ทั้งนี้การศึกษาการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของชาวชุมชนแออัดริมคลองแม่ข่ามีความสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อแนวนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐ เพื่อที่ภาครัฐจะได้ทำความเข้าใจถึงพฤติกรรมและความคิดของชาวชุมชนแออัด และสามารถนำความเข้าใจดังกล่าวไปปรับประยุกต์เป็นนโยบายที่จะช่วยส่งเสริมชีวิตของชาวชุมชนแออัดริมคลองแม่ข่าในแนวทางไทยแลนด์ 4.0 ได้ต่อไป
การเก็บข้อมูลครั้งนี้ เป็นการสัมภาษณ์เชิงลึกโดยใช้แบบสัมภาษณ์ การคัดเลือกผู้ให้สัมภาษณ์ใช้การกำหนดจำนวนผู้ให้สัมภาษณ์ตามช่วงอายุที่ต้องการ คือ ช่วงอายุ 13-23 ปี จำนวน 20 คน ช่วงอายุ 24-45 ปี จำนวน 14 คน และช่วงอายุ 46-60 ปี จำนวน 16 คน รวมทั้งสิ้น 50 คน
๏ ด้านการใช้อินเตอร์เน็ต มีคนที่ใช้อินเตอร์เน็ตผ่านโทรศัพท์มือถือ คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊คคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ และ Tablet โดยบางคนแบบจ่ายเป็นรายเดือน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายในการใช้อินเตอร์เน็ตเฉลี่ยประมาณคนละ 675 บาท/เดือน
๏ ด้านการดำเนินธุรกิจโดยใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Commerce) มีผู้ที่เคย “ขาย” สินค้าหรือบริการในอินเตอร์เน็ต และมีผู้ที่เคย “ซื้อ” สินค้าและบริการในอินเตอร์เน็ต ด้วยแอพพลิเคชั่นต่าง ๆ
๏ ด้านการใช้ค้นหาข้อมูล โปรแกรมค้นหาที่ใช้ ทุกคนเคยใช้ Google และโปรแกรมอื่น โดยเรื่องที่ค้นหาบ่อยที่สุด 4 อันดับแรกคือ (1) ความรู้ทั่วไปตามความสนใจเฉพาะ เช่น การทำอาหาร การซ่อมรถ การดูแลเด็ก เป็นต้น (2) ด้านการเรียนและการแปลภาษา (3) หาภาพยนตร์ต่าง ๆ (4) ใช้ค้นหาแผนที่