EN/TH
EN/TH
กลุ่ม Big data และดัชนีสังคมไทย>คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 1
คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 1
โพสต์ เมื่อ 05 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 205 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 30 ครั้ง

คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ระยะที่ 1

ผศ.ดร.จิราวิทย์ ญาณจินดา และคณะ

การศึกษาวิจัยเรื่อง “คนไทย 3.0 สู้เฟคนิวส์และรับมือภาวะฟุ้งกระจายของข่าวสารในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 (ระยะที่ 1)” เป็นการศึกษาที่เกิดขึ้นในช่วงที่ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล ภายใต้นโยบายรัฐบาล “ไทยแลนด์ 4.0” ทำให้วิถีชีวิตของประชาชนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงในกิจกรรมการใช้ชีวิต ประชาชนครอบครองอุปกรณ์สื่อสารส่วนตัวมากขึ้น จึงสามารถเข้าถึงข้อมูลและข่าวสารได้อย่างแพร่หลายและทันต่อเหตุการณ์ วิถีชีวิตและประเพณีรวมทั้งความเชื่อของประชาชนถึงถูกท้าทายด้วยการก่อกวนของเทคโนโลยีเหล่านี้ การพัฒนาด้านสื่อสังคมออนไลน์และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสื่อสารและระบบอินเทอร์เน็ต ส่งผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมการเสพข่าวสารของผู้บริโภคในยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงไปในหลายทิศทาง ผู้คนเสพข่าวสารจากสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้น และก่อให้เกิดพฤติกรรมการเลียนแบบและค่านิยมแปลกไปจากเดิม เฟคนิวส์จึงกลายเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทยที่เกิดขึ้นจากเจตนาของผู้สร้างข่าวเพื่อทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิด (Adnan et al, 2019) เฟคนิวส์มีผลกระทบร้ายแรงต่อทัศนคติ และความคิด ที่ส่งไปถึงการกระทำของคนในสังคมได้ แต่การสกัดกั้นเฟคนิวส์ไม่ให้ออกเผยแพร่นั้นต้องอาศัยเทคโนโลยีกฎหมายและกระบวนการทางการปกครองที่ร่วมมือกันหลายฝ่าย วิธีการพัฒนาสังคมและยับยั้งเฟคนิวส์ที่ยั่งยืนที่สุดคือการติดอาวุธทางปัญญาแก่คนไทยให้รู้เท่าทัน และสามารถใช้ทักษะส่วนตนในการคัดกรอง วิเคราะห์ข้อเท็จจริงเพื่อเลือกรับข่าวสารที่ถูกต้องได้ จึงมุ่งศึกษาและวิเคราะห์ปัจจัยและองค์ประกอบของการตัดสินใจเชื่อข่าวสารของคนไทยที่เกิดขึ้นในระหว่างช่วงเวลาของวิกฤต COVID-19 เพื่อวิเคราะห์เชิงลึกว่ามีเหตุปัจจัยใดที่มีอิทธิพลต่อการเชื่อเฟคนิวส์ของคนไทยในทุกสาขาอาชีพ มีปัจจัยที่สามารถยับยั้งหรือพัฒนาการเลือกบริโภคข่าวสารถูกต้องแก่คนไทยได้ และเพื่อพัฒนาทักษะด้านการรับเลือกบริโภคข่าวสารของประชาชนไทย รวมไปถึงเพื่อพัฒนานวัตกรรม (Innovation process) ที่สามารถใช้เป็นเครื่องมือช่วยประกอบการตัดสินใจเลือกเชื่อฟังข่าวสาร เนื่องจากในช่วงวิกฤตนี้เกิดข่าวสารและปรากฏการณ์ผิดปกติชัดเจนหลายประการ ที่สามารถนำมาศึกษาและถอดบทเรียนเพื่อพัฒนาสังคมในอนาคตได้ โดยมุ่งหวังว่าจะเข้าใจปรากฏการณ์นี้และสามารถค้นหาแนวทางเพื่อพัฒนาอาวุธทางปัญญาให้คนไทย มุ่งสู่การเป็น “คนไทย 4.0” ที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาประเทศในยุคสมัยใหม่นี้ให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศได้อย่างมั่นคง ประชากรกลุ่มเป้าหมายในงานวิจัยครั้งนี้ประกอบไปด้วย 1) ตัวแทน อสม. ในเมืองและชนบทผู้รับข่าวสารและข้อมูลต่าง ๆ ผ่านช่องทางการกระจายข่าว เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์ 2) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในชุมชนเมืองและชนบทในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 103 คน

ผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามเป็นเพศชาย ร้อยละ 28.2 และเป็นเพศหญิง ร้อยละ 71.8 ส่วนใหญ่ได้รับข่าวเกี่ยวกับ COVID-19 จากช่องทางโทรทัศน์ และสื่อสังคมออนไลน์ Facebook บอกเล่าแบบปากต่อปาก เสียงตามสายในชุมชน วิทยุ และ Twitter ตามลำดับเมื่อรับรู้ข่าวในช่วงวิกฤติไวรัส COVID-19 ส่วนใหญ่มักจะพินิจพิจารณาข่าวก่อนและโดยทั่วไปที่ไม่เชื่อในเนื้อข่าวนั้น และหากต้องการส่งต่อมักส่งต่อให้ครอบครัวและญาติพี่น้องเป็นส่วนใหญ่ เมื่อนำข่าวปลอมมาทดสอบพฤติกรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม มีผู้เชื่อว่าเป็นข่าวจริง ร้อยละ 55.3 ไม่เชื่อในข่าวร้อยละ 42.7 แต่เมื่อนำข่าวจริงมาทดสอบพฤติกรรมของผู้ตอบแบบสอบถาม ปรากฏว่ามีผู้ตอบที่เชื่อว่าเป็นข่าวจริง ร้อยละ 48.5 และมีผู้ที่ไม่เชื่อในข่าว ร้อยละ 51.5 ผู้ที่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นจากการรับข่าวสารในช่วงของวิกฤต COVID-19 คือร้อยละ 53.4 โดยใช้จ่ายเงินเพื่อหน้ากากอนามัย กักตุนอาหาร และเจลแอลกอฮอล์ ค่าทำประกันภัย COVID-19 ค่าตรวจ COVID-19 ตามลำดับ จากการรวบรวมข่าวผ่านช่องทางต่าง ๆ ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงตุลาคม พ.ศ. 2563 ในประเทศไทยสามารถรวบรวมข่าวได้ทั้งหมด 109 ข่าว และจากการวิเคราะห์พบว่าเป็นข่าวปลอม 51 ข่าว เป็นข่าวจริง 58 ข่าว ผลของการวิเคราะห์ประเภทข่าวพบว่า ประเภทของข่าวที่พบมากที่สุดคือ Misleading หรือ ทำให้เข้าใจผิด ซึ่งข่าวปลอมประเภทนี้ได้มักใช้คำหรือประโยคชวนเชื่อที่ทำให้ผู้อ่านรู้สึกคล้อยตามไปกับเนื้อหาของข่าว และทำให้หลงเชื่อข่าวนั้น แม้ว่าข่าวจะไม่มีมูลความจริงอยู่ก็ตาม

ข้อค้นพบจากงานวิจัยข้างต้น จึงมีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย คือ ภาครัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจัดอบรมถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับการรับมือกับข่าวปลอมหรือเฟคนิวส์ที่เกี่ยวกับไวรัสCOVID-19 ให้แก่ อสม. หรือบุคคลที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการจัดอบรมภาครัฐจะต้องเปิดกว้าง โดยจัดให้มีช่องทางที่ประชาชนสามารถส่งคำถามเข้ามาถามและตอบข้อสงสัย กรณีที่เกิดข่าวปลอมที่เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 ที่สร้างความแตกตื่นและสร้างความเข้าใจผิด หากรัฐบาลต้องการที่จะจัดการปัญหาเฟคนิวส์ ที่เกี่ยวกับไวรัส COVID-19 อย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลต้องเร่งรัดให้หน่วยราชการรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐอื่น ๆ นำข้อมูลข่าวสารทั้งหมดใส่ไว้ในระบบฐานข้อมูลของหน่วยงานและเปิดให้ประชาชนและสื่อมวลชนสามารถเข้าถึงข้อมูลนั้นได้ผ่านระบบออนไลน์ รวมทั้งกำชับหัวหน้าหน่วยงานต่าง ๆ ให้รีบตอบสนองกรณีที่มีข้อสงสัยต่อข้อมูลข่าวสารใดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานนั้น ๆสื่อมวลชนก็จะมีหน้าที่นำข้อมูลข่าวสารนั้นไปเผยแพร่ต่อสาธารณชนอีกต่อหนึ่ง