

ฉากทัศน์ที่ 2 ปลาไหลพ้นโคลนตม
จะเกิดอะไรขึ้น หากสถานการณ์ทางการเมืองของประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น
พรรคการเมืองต่าง ๆ หันมาร่วมมือกันแก้ไขปัญหาmk'สังคมและเศรษฐกิจตั้งแต่ระดับรากหญ้าขึ้นมาสู่ระบบเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศ?
ฉากทัศน์ที่ 2 นี้นำเสนอภาพอนาคตประเทศไทยที่เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่จากการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดรัฐบาลผสมชุดใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น
ขณะที่เมืองหลักในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต และสงขลา ได้เติบโตขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและด้านดิจิทัล จึงเกิดการย้ายถิ่นฐานของคนรุ่นใหม่เข้าสู่จังหวัดดังกล่าวมากขึ้น และเมืองรองที่มีสภาพแวดล้อมดี เช่น เชียงราย นครพนม และสุราษฎร์ธานี ก็ได้รับอนิสงค์จากการพัฒนานี้ด้วย
ความเจริญจึงเริ่มกระจายไปยังภูมิภาคต่าง ๆ มากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและพื้นถิ่นนิยมได้รับความนิยมมากขึ้น เศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะเน้นความเป็นท้องถิ่นพร้อมกับการบังคับใช้กฎหมายป้องกันการผูกขาดที่เข้มข้นขึ้น
อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของการกระจายอำนาจยังคงต้องเผชิญกับความท้าทายด้านเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่น สังคมสูงวัย ข้อจำกัดด้านงบประมาณในการพัฒนาสู่เศรษฐกิจสีเขียว และปัญหาในระบบการศึกษาแยกศูนย์ที่ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนได้เท่าที่ควร
ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงค่านิยมและพฤติกรรมทางการเมืองของพลเมืองยุคใหม่ที่มีความเป็นสากลและมีกระบวนทัศน์เป็นพลเมืองโลก (global citizen) มากขึ้น แม้การปฏิรูปจะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบ แต่ความเหลื่อมล้ำระหว่างท้องถิ่นและปัญหาหนี้ครัวเรือนยังคงมีอยู่ ระบบเศรษฐกิจไทยยังเป็นแนวตลาดแบบลำดับชั้นชั้น และข้อจำกัดทางการคลังยังเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตอย่างเต็มที่ของเศรษฐกิจ