

4 ฉากทัศน์ของอนาคตประเทศไทย พ.ศ. 2585 เป็นฉากทัศน์ต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2585 โดยสามารถวิเคราะห์ออกมาได้เป็น 4 ฉากทัศน์ที่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นการวิเคราะห์จากปัจจัยขับเคลื่อนสำคัญ 2 ประการ ได้แก่ รูปแบบการเติบโตทางเศรษฐกิจ และ รูปแบบการกระจายอำนาจ โดยแต่ละฉากทัศน์จะสะท้อนความเป็นไปได้ที่หลากหลายและมีนัยของความเสี่ยงที่แตกต่างกัน ดังนี้
ฉากทัศน์ที่ 1: กิ้งกือในเขาวงกต
ฉากทัศน์นี้การเติบโตทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับต่ำ ติดกับดักรายได้ปานกลาง พึ่งพาการส่งออก และอาศัยภาคการท่องเที่ยวเป็นแหล่งรายได้หลัก มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสิ้นเปลืองจนธรรมชาติเสื่อมโทรม เนื่องจากโครงสร้างพื้นฐานไม่พร้อมสำหรับการพัฒนาไปสู่การใช้พลังงานที่ยั่งยืน
ฉากทัศน์ที่ 2: ปลาไหลพ้นโคลนตม
ฉากทัศน์ประเทศไทยเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างครั้งใหญ่จากการปฏิรูประบบราชการและการกระจายอำนาจจากศูนย์กลางสู่ท้องถิ่นอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้เกิดรัฐบาลผสมชุดใหม่และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่มีบทบาทในการบริหารจัดการโครงสร้างพื้นฐานและพัฒนาเศรษฐกิจมากขึ้น เมืองหลักและเมืองรองในภูมิภาคจึงเติบโตขึ้นจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและด้านดิจิทัล
ฉากทัศน์ที่ 3: ไก่ออร์แกนิกในเล้าไฮเทค
ฉากทัศน์นี้ประเทศไทยได้เปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียวและพลังงานหมุนเวียนอย่างเต็มตัว โดยใช้นโยบาย "ไทยกรีนนิวดีล" ซึ่งพึ่งพาการลงทุนมหาศาลจากภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว เนื่องจากภาครัฐมีข้อจำกัดทางการคลัง ประเทศไทยจึงกลายเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่สำคัญ
ฉากทัศน์ที่ 4: พิราบไร้พรมแดน
ฉากทัศน์นี้ประเทศไทยเน้นการปรับโครงสร้างสู่ระบบเศรษฐกิจสีเขียวและการใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เกิดกระจายอำนาจเหนือทรัพยากรออกจากศูนย์กลาง ซึ่งขับเคลื่อนโดยการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานจากทั้งภาครัฐและเอกชน เกิดกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการผลักดันของเครือข่ายประชาสังคมในการสร้างชุมชนนิเวศที่เน้นการผลิตและบริโภคในท้องถิ่นและการพึ่งพาตนเอง
จาก 4 ฉากทัศน์ที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าฉากทัศน์ที่ 1 เป็นฉากทัศน์ที่แย่ที่สุดที่มีโอกาสจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยในอนาคต หากสภาพเศรษฐกิจและการบริหารงานของรัฐบาลยังเป็นแบบปัจจุบัน ส่วนฉากทัศน์ที่ 4 เป็นฉากทัศน์ที่ดีที่สุดและประเทศไทยใฝ่ฝันที่จะไปให้ถึงในจุดนั้น
การพัฒนาในด้านที่สำคัญที่สุดที่ประเทศไทยควรเริ่มก่อนในอันดับแรกเพื่อหลุดพ้นจากฉากทัศน์ที่ 1 คือ การปฏิรูปการศึกษาและระบบการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทุนมนุษย์ให้ก้าวทันโลก (Human Capital Development through Educational Transformation) เนื่องจากการลงทุนในการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทุนมนุษย์อย่างรอบด้านเป็นการสร้างรากฐานที่แข็งแกร่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงบวกต่อทุกภาคส่วน และเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาประเทศไทยให้หลุดพ้นจากสถานการณ์ที่ติดขัดและไร้ทิศทางเหมือนกับฉากทัศน์ที่ 1 เพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่การพัฒนาที่ก้าวหน้าและยั่งยืน