EN/TH
EN/TH
กลุ่มส่องโลกปริทรรศน์>ถ้าหากเลือกเกิดไม่ได้ จะขอเลือกตายเองได้ไหม?
ถ้าหากเลือกเกิดไม่ได้ จะขอเลือกตายเองได้ไหม?
โพสต์ เมื่อ 29 มีนาคม 2021
จำนวนผู้เข้าชม 191 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 24 ครั้ง

รศ.ดร.นพพล วิทย์วรพงศ์

“การุณยฆาต” วาระสุดท้ายของชีวิตที่เลือกได้

การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ ได้แก่ (1) เพื่อศึกษาถึงรายละเอียดของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกในการยุติชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายในต่างประเทศ และ (2) เพื่อประเมินในเบื้องต้นถึงความเป็นไปได้ในการดำเนินนโยบายที่เกี่ยวข้องกับทางเลือกในการยุติชีวิตของผู้ป่วยระยะท้ายในรูปแบบต่าง ๆ ในประเทศไทย

ขอบเขตของการศึกษานี้ คือ การสรุปและสังเคราะห์งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยพิจารณางานวิจัยของประเทศไทยในฐานข้อมูลของศูนย์ดัชนีการอ้างอิงวารสารไทย (Thai Journal Citation Index: TCI) งานวิจัยของต่างประเทศในฐานข้อมูล PubMed และ Google Scholar และการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับประเทศเนเธอร์แลนด์และแคนาดาที่เป็นกรณีศึกษาของการศึกษานี้


ทางเลือกในการยุติชีวิตในวรรณกรรมมีทั้งสิ้น 6 ทางเลือก ได้แก่

(1) การุณยฆาต (Euthanasia) หมายถึง การยุติชีวิตของผู้ป่วยโดยแพทย์ตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วยเอง

(2) การฆ่าตัวตายโดยความช่วยเหลือของแพทย์ (Physician-Assisted Suicide) หมายถึง การยุติชีวิตของผู้ป่วยด้วยตัวผู้ป่วยเอง โดยแพทย์ให้ความช่วยเหลือด้วยการจัดยาที่มีฤทธิ์ทำให้เสียชีวิตตามคำร้องขอและความสมัครใจของผู้ป่วย

(3) การยุติชีวิตโดยปราศจากการแสดงเจตนาของผู้ป่วย (Ending of Life without the Patient’s Explicit Request หรือ Life Terminating Acts without Explicit Request of Patient) หมายถึง การยุติชีวิตของผู้ป่วยโดยแพทย์ โดยที่ผู้ป่วยไม่เคยแสดงเจตนารมณ์ไว้ว่าให้แพทย์กระทำการดังกล่าวได้ ซึ่งจะไม่อยู่ในขอบเขตของการศึกษาครั้งนี้

(4) การปฏิเสธการรักษาในวาระท้ายของชีวิต (Non-Treatment Decisions) หมายถึง การที่ผู้ป่วยตัดสินใจที่จะงดหรือหยุดการ รับบริการทางการแพทย์ที่มีวัตถุประสงค์ในการธำรงหรือยืดชีวิตของตนเอง (Withhold or Withdraw LifeSustaining Treatment)

(5) การฆ่าตัวตาย (Suicide) ซึ่งจะไม่อยู่ในขอบเขตของการศึกษาครั้งนี้

(6) การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) ซึ่งไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการเร่งหรือยืดการตาย ผลลัพธ์ของการกระทำดังกล่าวจึงเป็นการเสียชีวิต “ตามธรรมชาติ” ทั้งนี้ การรับการดูแลแบบประคับประคองเป็นการกระทำที่ถูกกฎหมายในทุกประเทศทั่วโลก และนับว่าเป็นรูปแบบการยุติชีวิตที่เป็นตัวเปรียบเทียบ (Status Quo) ให้กับรูปแบบอื่น ๆ