EN/TH
EN/TH
วิจัยการท่องเที่ยว>[โครงการย่อยที่ 3] การจัดทำแผนเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม 4.0
[โครงการย่อยที่ 3] การจัดทำแผนเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเชียงใหม่ เมืองท่องเที่ยววัฒนธรรม 4.0
ผู้วิจัย : สุวารี วงค์กองแก้ว และคณะ   โพสต์ เมื่อ 22 มีนาคม 2023
จำนวนผู้เข้าชม 198 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 37 ครั้ง

เมืองเชียงใหม่เป็นเมืองที่มีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยวสูง โดยเฉพาะทุนวัฒนธรรมที่ส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ เป็นที่ยอมรับให้อยู่ในบัญชีมรดกโลกเบื้องต้น (tentative list) เป็นเมืองที่มีรูปแบบสถาปัตยกรรมโดยเฉพาะประเภทศาสนสถานที่มีลักษณะเฉพาะตัวโดดเด่นจนเกิดเป็นยุคทองของสถาปัตยกรรมล้านนา รวมถึงยังคงเป็นเมืองเก่าที่มีชีวิต (living old city) ที่ผู้คนยังใช้ชีวิตอยู่ในเมืองเก่าประกอบพิธีกรรมต่างๆ เป็นปกติ มีความเป็นชุมชน ทำให้มีภาคประชาชนที่เข้มแข็ง พร้อมที่จะช่วยกันดูแลอนุรักษ์เมืองเก่า

โครงการแผนท่องเที่ยวเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเมืองเชียงใหม่ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาปัญหาที่เกิดกับเมืองเชียงใหม่ในแง่มุมของการขยายตัวของการท่องเที่ยว 2) ศึกษาและสำรวจย่านอนุรักษ์และย่านชุมชนในเชียงใหม่ เพื่อให้สามารถขยายผลไปสู่เป้าหมายในการจัดการศิลปวัฒนธรรมอื่นๆ เช่น การเป็นเมืองมรดกโลก เป็นต้น 3) สร้างกระบวนการหารือเพื่อให้ได้แผนยุทธศาสตร์เรื่องการท่องเที่ยวระยะยาวสำหรับเมืองเชียงใหม่ ที่คนในเชียงใหม่มีส่วนร่วม 4) ศึกษาแนวทางพัฒนาตลาดในเมืองให้เป็นแหล่งและวิถีท่องเที่ยวชุมชน 5) จัดทำแผนเพื่ออนุรักษ์และพัฒนาเชียงใหม่เมืองวัฒนธรรม 4.0

การจัดทำแผนท่องเที่ยวฯ ฉบับนี้ ได้จากการดำเนินการดังต่อไปนี้ 1) ทบทวนข้อมูลและแนวคดิ จากเอกสาร 2) ลงสำรวจเชิงพื้นที่ 3) จัดประชุมกลุ่มย่อยร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาส ความท้าทาย (SWOT Analysis) 3 ครั้ง มีผู้เข้าร่วมทั้งสิ้นประมาณ 105 คน เป็นตัวแทนจากหน่วยงานหลายภาคส่วน ทั้งข้าราชการ นักวิจัย พระสงฆ์ ครู ตัวแทนชุมชน และสื่อมวลชน

จากการศึกษาพบว่า การหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวส่งผลกระทบหลายประการ เช่น ทำให้คุณค่าของเมืองเก่าเริ่มถูกลดทอน จากการเปลี่ยนมือของการถือครองที่ดินจากคนท้องถิ่นไปสู่นายทุนที่ใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ รวมถึงความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวเริ่มถึงขีดจำกัด ทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง ที่ปัจจุบันรถโดยสารสาธารณะที่ให้บริการในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ยังไม่เพียงพอกับจำนวนนักท่องเที่ยว หรือการที่นักท่องเที่ยวบางส่วนเริ่มเข้ามารุกล้ำพื้นที่ของชุมชนซึ่งเป็นที่พักอาศัยของคนท้องถิ่น เกิดความขัดแย้งระหว่างโรงแรมและสถานศึกษา ทั้งยังเกิดปัญหาในการบริหารจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของเมือง โดยเฉพาะปัญหาขยะและน้ำเสีย

จากผลกระทบต่างๆ ดังที่ได้กล่าวมา ทำให้ประชาคมผู้ร่วมจัดทำแผนฉบับนี้กำหนดวิสัยทัศน์ให้เชียงใหม่เป็นเมืองท่องเที่ยววัฒนธรรมระดับสากลที่คนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์เพื่อให้บรรลุวิสัยทัศน์และเป้าหมายดังกล่าว จึงกำหนดยุทธศาสตร์ 3 ยุทธศาสตร์ คือ 1) อนุรักษ์และส่งเสริมเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมชั้นนำของโลก 2) เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเมืองเชียงใหม่ 3) สนับสนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม ให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากการท่องเที่ยว

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 1 อนุรักษ์และส่งเสริมเชียงใหม่ให้เป็นเมืองท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์และศิลปวัฒนธรรมชั้นนำของโลก ประชาคมผู้ร่วมจัดทำแผนได้กำหนด “ย่านในเมืองเก่าเชียงใหม่ที่ควรอนุรักษ์และพัฒนาเชิงสร้างสรรค์” ออกเป็น 6 กลุ่ม คือ (1) แจ่งศรีภูมิ แจ่งกู่เฮือง (2) พระปกเกล้า ช้างเผือก วัวลาย (3) ราชดำเนิน ท่าแพ ตลาด ริมฝั่งแม่น้ำปิง เจริญเมือง (4) วัดเจ็ดยอด นิมมานเหมินทร์ วัดสวนดอก (5) โบราณสถานร้าง (6) ลำคูไหว ป้อมหายยา และคลองแม่ข่า โดยแต่ละกลุ่มจะเน้นที่การปรับปรุงพื้นที่และภูมิทัศน์เป็นหลัก แต่ในย่านพระปกเกล้า-ช้างเผือก-วัวลาย จะเพิ่มการสร้างกิจกรรมทางวัฒนธรรมขึ้นมา ในขณะที่กลุ่มโบราณสถานร้างจะต้องเพิ่มมาตรการ 1) ทำทะเบียนวัดร้าง/เจดีย์ร้าง เพื่อศึกษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม 2) สร้างกระบวนการรักษาพื้นที่วัดร้าง/เจดีย์ร้าง โดยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานรัฐและชุมชนผู้เป็นเจ้าของโดยรอบ และ 3) ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ ส่วนในกลุ่มลำคูไหว ป้อมหายยา และคลองแม่ข่า จะต้องสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลคลองระหว่างชุมชนกับหน่วยงานภาครัฐ

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 2 เพิ่มขีดความสามารถในการจัดการสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตเมืองเชียงใหม่ ประกอบด้วยแผนงาน 2 แผนงานคือ (1) แผนงานพัฒนาระบบขนส่งมวลชนในเขตเมืองเก่าเชียงใหม่ และ (2) แผนงานการจัดการสิ่งแวดล้อมในเมืองเชียงใหม่

ภายใต้ยุทธศาสตร์ที่ 3 สนับสนุนเศรษฐกิจท่องเที่ยวสร้างสรรค์อย่างมีส่วนร่วม ให้ชุมชนท้องถิ่นได้รับผลประโยชน์เต็มที่จากการท่องเที่ยว ประกอบด้วยแผนงาน 3 แผนงานคือ (1) แผนงานฟื้นแม่ข่า พลิกโฉมเมืองเชียงใหม่ (2) แผนงานพัฒนาขีดความสามารถของคนในท้องถิ่นในการทำธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวและ (3) แผนงานส่งเสริมอาหารวัฒนธรรม