EN/TH
EN/TH
กลุ่มนโยบายสาธารณะและกฎหมาย>น-อนาคตชาวนา-ชาวสวนรายเล็ก-นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ
น-อนาคตชาวนา-ชาวสวนรายเล็ก-นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ
ผู้วิจัย : ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร และคณะ   โพสต์ เมื่อ 01 สิงหาคม 2022
จำนวนผู้เข้าชม 264 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 58 ครั้ง

วัตถุประสงค์หลักของรายงานวิจัย คือการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของภาคเกษตรและเกษตรกรไทยในอดีตปัจจุบัน ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลกและการปรับตัวของเกษตรกร รวมทั้งความท้าทายต่างๆ ที่จะมีผลกระทบโดยตรงต่อภาคเกษตรไทยโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและแนวโน้มการลดลงของแรงงานภาคเกษตร การฉายภาพอนาคตของภาคเกษตรและเกษตรกรรายเล็กใน 20 ปีข้างหน้า รวมทั้งการเสนอยุทธศาสตร์สนับสนุนการปรับตัวของเกษตรกรรายเล็กตามเป้าประสงค์ในการเพิ่มผลิตภาพและรายได้ของเกษตรกรรายเล็กให้ใกล้เคียงรายได้จากการประกอบอาชีพนอกเกษตร และการรักษาหรือเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคเกษตรอย่างยั่งยืน

ขอบเขตการศึกษา ครอบคลุมเกษตรกรรายเล็กที่ปลูกข้าว ผักและไม้ผล รวมทั้งเกษตรกรบนพื้นที่สูงในจังหวัดภาคเหนือ ชาวนาและชาวสวนรายเล็กมีพื้นที่เกษตรไม่เกิน 20 ไร่ ส่วนเกษตรกรบนที่สูงจะมีพื้นที่การเกษตรมากกว่า 50 ไร่

วิธีการศึกษาวิจัย มี 4 ส่วน ส่วนแรก ได้แก่ ก) การกวาดสัญญาณในตลาดโลกด้านการค้าเสรีการบริโภคข้าว และเทคโนโลยี ข) การสรุปภาพการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างภาคเกษตร (agricultural transformation) ค) ตอนที่สาม เป็นการศึกษาแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงด้านความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทย และ ง) การใช้และความคุ้มค่าของเทคโนโลยี กับเกษตรกรรุ่นใหม่ ส่วนที่สอง ประกอบด้วย ก) การพยากรณ์เกษตรกรในอนาคต 10 ปีข้างหน้า และ ข) การคาดคะเนผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศต่อผลผลิตการเกษตรในอนาคต และส่วนที่สาม เป็นการศึกษาอนาคตของเกษตรกรรายเล็กผู้ปลูกข้าว ผักและไม้ผล และเกษตรกรบนที่สูง

ผลการศึกษาโดยสรุป

ความสามารถในการแข่งขันการส่งออกของประเทศไทยเทียบกับประเทศคู่แข่ง ในช่วงปี 2555-2562 พบว่า ความสามารถในการแข่งขันของสินค้าเกษตรไทยลดลงอย่างชัดเจน โดยเฉพาะข้าวทุกชนิดที่ค่า normalized RCA ลดลง ขณะที่คู่แข่งมีค่า RCA เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะผลผลิตต่อไร่ของไทยในช่วง 15 ปีมีแนวโน้มทรงตัวและต่ํากว่าประเทศในเอเซีย รวมทั้งประเทศที่มีระดับการพัฒนาเกษตรต่ํา ในด้านผักและผลไม้ สถานะความสามารถในการแข่งขันพอใช้ได้การพยากรณ์แรงงานเกษตรในอนาคต ประเด็นที่น่าสนใจ คือการเพิ่มทุนในภาคเกษตร ทําให้แรงงานในภาคเกษตรลดลงแต่ผลิตภาพแรงงานเพิ่มขึ้น เพราะสัดส่วน ชั่วโมงทํางานของผู้มีทักษะสูง/การศึกษาสูง มีสัดส่วนเพิ่มขึ้น ขณะที่สัดส่วนของชั่วโมงทํางานของแรงงานทักษะต่ําลดลง นัยเชิงนโยบายที่สําคัญ คือการเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตร และเพิ่มการลงทุนด้านการศึกษาและทักษะของแรงงานเกษตร

การคาดคะเนจำนวนประชากรบนที่สูง ผลการพยากรณ์พบว่า ใน 20 ปีข้างหน้า จำนวนประชากรบนที่สูงจะยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มค่อนข้างช้า (เทียบกับอดีต) โดยจำนวนประชากรที่มากที่สุด คือ ประชากรในวัย 25-44 และ 45-64 ปี

การศึกษาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate change) ผลการพยากรณ์พบว่า ผลผลิตข้าวโดยรวม และผลผลิตข้าวต่อไร่จะลดลงในระหว่างคศ. 2000-2039 โดยที่ผลผลิตข้าวในฉากทัศน์ RCP 8.5 จะลดลงมากกว่ากรณี RCP 4.5 และครัวเรือนเกษตรรายใหญ่จะมีผลผลิตลดลง ขณะที่ครัวเรือนขนาดเล็กจะยังคงสามารถสามารถปรับตัวรักษาระดับผลผลิตให้สูงขึ้นได้

การสร้างฉากทัศน์ในอนาคต 20 ปี ข้างหน้า ฉากทัศน์ที่พึงปรารถนาของชาวนาไทยรายเล็ก คือ ฉากทัศน์ที่ 4 พันธมิตรธุรกิจข้าวสมัยใหม่ด้วยองค์กรธุรกิจเพื่อสังคม มีผลิตภัณฑ์ข้าวหลากชนิด แต่การเคลื่อนตัวสู่ฉากทัศน์นี้ยากกว่าการเคลื่อนตัวสู่ฉากทัศน์ที่ 2 คือ ชาวนาไฮเทครายใหญ่ ทำนาในที่ดินขนาดใหญ่ ใช้ความรู้ เทคโนโลยี ทำเกษตร นโยบายและยุทธศาสตร์สำคัญในการขับเคลื่อนจากฉากทัศน์ปัจจุบันสู่ฉากทัศน์ที่ 2 ได้แก่ เพิ่มการลงทุนด้านการพัฒนาพันธุ์ข้าว การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตข้าวให้ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งการวิจัยด้านการตลาด โดยปรับวัตถุประสงค์การอุดหนุนชาวนา นำเงินอุดหนุนบางส่วนมาส่งเสริมความรู้ที่เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ การปรับเปลี่ยนจากการค้าข้าวตลาดมวลชนมาเป็นการค้าสำหรับตลาดเฉพาะ (Niche markets)

ฉากทัศน์อนาคตชาวสวนผักและไม้ผลรายเล็ก ได้มีฉากทัศน์ที่พึงประสงค์ เกษตรกรผู้ประกอบธุรกิจสีเขียว (All Green Entrepreneur) นโยบายขับเคลื่อนไปสู่ฉากทัศน์ดังกล่าวนี้ ควรมีการพัฒนาและการขับเคลื่อนกลุ่มเกษตรกรในระดับสถาบันและสร้างกลไกมืออาชีพในแต่ละนิเวศเกษตร โดยมีเป้าหมายร่วม เกษตรกรผักไม้ผลรายเล็กก้าวสู่ระบบการผลิตการค้าแบบ “เกษตร 4.0” สามารถยกระดับสภาพแวดล้อมสังคม รายได้และเศรษฐกิจแบบยั่งยืนด้วยกัน

ฉากทัศน์อนาคตเกษตรกรบนที่สูง ฉากทัศน์ “เกษตรและธุรกิจสีเขียวของหนุ่มสาว” เป็นฉากทัศน์ที่พึงประสงค์สูงสุด นโยบายที่จะสนับสนุนการปรับเปลี่ยนมีมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ได้แก่ การสร้างทางเลือกอาชีพเกษตรผสมผสาน การรวมกลุ่มเกษตรกร การสร้างทางเลือกสำหรับการผลิตเกษตรพื้นที่สูง พัฒนาระบบกลไก สร้างแรงจูงใจและการขยายโอกาสการเพิ่มรายได้ครัวเรือน และมิติด้านกฎหมายและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ มาตรการสร้างการมีส่วนร่วม ตลอดจนความชัดเจนการใช้ประโยชน์ที่ดินลุ่มน้ำชั้น 1-2 การสร้างแรงจูงใจในสร้างและพัฒนาระบบเกษตรที่สร้างพื้นที่สีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาตรการเพื่อการหนุนเสริมเพื่อให้ชุมชนทำหน้าที่ในการดูแลพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1-2 และควรมีการปรับเปลี่ยนมาตรการ/ระเบียบ การใช้ประโยชน์ที่ดินที่มีความยืดหยุ่น