การวิจัยเรื่องการพัฒนาธุรกิจชุมชนกาแฟบนพื้นที่สูงด้วยโซ่อุปทานการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจชุมชนบนพื้นที่สูง มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาธุรกิจชุมชนกาแฟบนพื้นที่สูงด้วยการบริหารจัดการโซ่อุปทานการผลิต 2) เพื่อนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการพัฒนาธุรกิจชุมชนกาแฟบนพื้นที่สูง การวิจัยครั้งนี้ได้ศึกษาจากประชากรเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟ จำนวน 41 ครัวเรือนของบ้านน้ำพัน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน ผลการศึกษา พบว่า
การพัฒนาธุรกิจชุมชน มีการแบ่งตลาดเป็น 2 ระดับ ประกอบด้วย ตลาด mass และตลาดเฉพาะ ด้วยการแบ่งแยกผลิตภัณฑ์ผลิตภัณฑ์ ด้วยสายพันธุ์ คุณภาพกาแฟ และการออกแบบผลิตภัณฑ์ สร้างแบรนด์อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์และจุดขายด้วยคุณภาพที่แตกต่างจากคู่แข่ง บริหารจัดธุรกิจตลอดโซ่อุปทานการผลิต 5 ห่วงโซ่ เกิดการเปลี่ยนแปลงมูลค่าและอัตราผลตอบแทนการลงทุนตลอดโซ่อุปทาน โดยโซ่ที่1 (การผลิต) ชุมชนมีผลผลิตกาแฟสุกเพิ่มจาก 1,305 ตัน/ปีเป็น 1,500 ตัน/ปี มูลค่าธุรกิจเพิ่มเป็น 26,100,000 บาท อัตราผลตอบแทนการลงทุน (ROI) ร้อยละ 55.45 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.85) โซ่ที่ 2 (การรวบรวมผลสุก) มูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 25,375,000 บาท ROI เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 5.16 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.31) โซ่ที่3 (กาแปรรูปกาแฟกะลา) มูลค่าธุรกิจเพิ่มขึ้นเป็น 2,903,050 บาท /ปี ROI เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 10.23 (เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.00) โซ่ที่ 4 (การแปรรูปผลิตภัณฑ์กาแฟ) เป็นกิจกรรมที่เริ่มในการวิจัย มีมูลค่าธุรกิจ 232,928 บาท ROI ร้อยละ 59.16 และโซ่ที่ 5 (การตลาด) เป็นกิจกรรมที่เริ่มในการวิจัย มีมูลค่าธุรกิจ 232,928 บาท ROI ร้อยละ 24.10
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการพัฒนาการพัฒนาธุรกิจชุมชนบนพื้นที่สูง ประกอบด้วย 1.) ระบบเกษตรพื้นที่สูงควรไปสู่พืชเศรษฐกิจที่มีมูลค่าสูงสร้างความจำเพาะ (niche crop)ได้ 2.) พืชและสัตว์เศรษฐกิจต้องมีศักยภาพในการจัดการโซ่อุปทานการผลิต จากการรวมกลุ่มเป็นเครือข่ายของเกษตรกร 3.) ที่มุ่งเน้นการแข่งขันด้วยคุณภาพมากกว่าปริมาณ และสร้างอัตลักษณ์เพื่อสร้างตลาดเฉพาะ 4.)การจัดการระบบเกษตรบนพื้นที่สูงมีข้อจำกัดของพื้นที่และมีต้นทุนการผลิตที่สูง 5.) การพัฒนาธุรกิจชุมชนบนพื้นที่สูงต้องการพัฒนาด้านการตลาดอย่างต่อเนื่อง ข้อควรระวังความเสี่ยงเรื่องโรค 6.) แรงงานและทักษะแรงงานของคนรุ่นถัดไป จะทำงานทางการเกษตรไม่เต็มเวลา ขาดแคลนแรงงาน ต้นทุนแรงงานจึงเป็นเงื่อนไขสำคัญของการขยายพื้นที่