EN/TH
EN/TH
กลุ่มอนาคตศึกษา>ว- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยโครงการย่อยที่ 3 - การทำงานในเมือง-ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
ว- คนเมือง 4.0 : อนาคตชีวิตเมืองในประเทศไทยโครงการย่อยที่ 3 - การทำงานในเมือง-ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์
ผู้วิจัย : อ.ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์   โพสต์ เมื่อ 13 เมษายน 2021
จำนวนผู้เข้าชม 268 ครั้ง, จำนวนดาวน์โหลด 48 ครั้ง

ในปัจจุบันขณะที่พื้นที่อาคารสํานักงานและนันทนาการต่าง ๆ เริ่มผลักให้พื้นที่อุตสาหกรรมชานเมืองออกห่างจากมหานครกรุงเทพมากขึ้น งานบริการต่าง ๆ จึงกลายเป็นกิจกรรมหลักที่ยังคงเหลืออยู่ในพื้นที่มหานครกรุงเทพ ในขณะเดียวกัน เมื่อนานาประเทศได้เข้าสู่กระบวนการดิจิทัล ประเทศไทยเองมีความจําเป็นต้องสร้างความทัดเทียมกับนานาชาติมากขึ้นตามมาตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ20 ปีการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลเป็นพลวัตให้งานภาคบริการของเมืองและวิถีชีวิตของคนทํางานบริการในเมืองมีความสําคัญตามขึ้นมาเช่นเดียวกันในด้านการทํางาน ระบบการทํางานเป็นครั้งคราวเริ่มมีธุรกิจแพลตฟอร์มมาเป็นตัวกลางมากขึ้น ซึ่งระบบเศรษฐกิจกิ๊กและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบแรงงานและสวัสดิการที่เป็นฐานความเป็นอยู่สําคัญของเมือง

งานวิจัยชิ้นนี้มุ่งศึกษาอนาคตของงานบริการในมหานครกรุงเทพ โดยเริ่มจากการกวาดสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับการว่าจ้างงานบริการในเมือง พบทั้งสิ้น 9 แนวโน้มผ่านการกวาดสัญญาณทั้งในมิติเชิงปริมาณด้านตลาดแรงงาน มิติเชิงคุณภาพด้านวิถีชีวิตและความเป็นธรรม และมิติเชิงพื้นที่ด้านบทบาทของเมืองและพื้นที่ทํางาน นอกจากนี้งานวิจัยนี้ได้ต่อแนวโน้มสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างแน่นอนเพื่อสร้างเป็นภาพอนาคตฐาน ที่ได้รับการสรุปเป็นข้อเสนอนโยบายเพื่อดําเนินการรับมืออนาคตฐาน ประกอบด้วยกลุ่มยุทธศาสตร์ทั้งสิ้น 3 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ด้านแรงงาน ที่ต้องรองรับการเปลี่ยนแปลงการทํางานในอนาคตและวิถีชีวิตแรงงาน ผ่านการปรับฐานแรงงาน ระบบสวัสดิการ และการสร้างหลักประกันแรงงาน ยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาเมือง ที่ต้องพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในเชิงการใช้พื้นที่สาธารณะ และบทบาทของเมืองที่เปลี่ยนไป และ ยุทธศาสตร์ด้านดิจิทัลและหุ่นยนต์แรงงาน ที่ต้องเริ่มศึกษาบทบาทและความท้าทายต่าง ๆ ของหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาสร้างความพลิกผันให้กับการทํางานและแรงงานโดยรวม

นอกจากภาพอนาคตฐานแล้ว งานวิจัยนี้ยังใช้ปัจจัยที่มีความไม่แน่นอนสูงและจะสร้างผลกระทบสูงคือ การเปิดรับแรงงานนานาชาติและวัฒนธรรมการทํางานและการว่าจ้าง มาไขว้กันเสนอเป็นฉากทัศน์ภาพอนาคตทางเลือกทั้งหมด 4 ฉาก คือ 1) ห่วงใยภายในเมมเบรน (Attentive Membrane) 2) ไหลออกด้วยดิจิทัล (Digital Exosmosis) 3) สถิตทุกกาลเทศะ (Omnipresence) และ 4) ไหลเข้าด้วยความผูกพัน(Affectionate Endosmosis) โดยได้เลือกภาพอนาคตที่พึงประสงค์คือ ฉาก “ไหลเข้าด้วยความผูกพัน” เพื่อสรุปเป็นข้อเสนอเพื่อดําเนินการสร้างอนาคตพึงประสงค์ต่อไป

จากภาพอนาคตฐานและอนาคตพึงประสงค์รายงานนี้นําเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่ได้รับการวางแผนยุทธศาสตร์ และทดสอบความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงของยุทธศาสตร์ต่าง ๆ โดยข้อเสนอเชิงยุทธศาสตร์และนโยบายที่เกิดจากงานวิจัยชิ้นนี้เล็งเห็นว่าแนวทางยุทธศาสตร์ที่สําคัญต่อการทํางานบริการในอนาคตของคนเมือง คือ การสร้างรัฐสวัสดิการสําหรับคนทุกรูปแบบเพื่อรองรับการพัฒนาเมืองน่าอยู่น่าทํางานระดับโลก